โรงเรียนฝางธรรมศึกษา

พระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา

ประวัติวัดศรีบุญเรือง ตำบลสันทราย อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่

ที่ตั้ง

วัดศรีบุญเรือง เป็นวัดราษฎร์ ตั้งอยู่เลขที่ ๑ หมู่ที่ ๗ ตำบลสันทราย อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เดิมมีเนื้อที่ ๑๕ ไร่ ๓ งาน ๒๕ ตารางวา ปัจจุบัน พระครูศรีสิทธิพิมล,ดร. และญาติโยมร่วมกันซื้อไว้เพื่อทำศูนย์ปฏิบัติธรรม และส่วนสาธารณะเพิ่มอีก ๑๐๑ ไร่

ประวัติความเป็นมาในยุคหลังที่พอสืบค้นได้

วัดศรีบุญเรือง เป็นวัดร้างที่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. ๑๙๘๕ – ๑๙๙๐ สมัยพระราชบุตรสิบ หรือที่เรียกว่า ท้าวซ้อย และได้นามของวัดว่า “วัดพระแก้ว” (ที่ชื่อวัดพระแก้ว เพราะพบหลักฐานจากฐานพระเก่า) ไม่มีรายชื่อแน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง วัดนี้เป็นวัดขนาดกลาง ที่อยู่ในชุมชนที่เรียกชื่อว่า บ้านล้องงิ้วเฒ่า หรือฮ่องงิ้วเฒ่า ใจกลางหมู่บ้านมีแม่น้ำล้อง สาขาน้ำฝางไหลผ่าน แต่ก็ได้รับความสนใจจากคนทั่วไปอยู่ไม่น้อยจากนั้นก็พัฒนามาโดยตลอด จนมีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาหลายรูป และได้รับความเจริญรุ่งเรืองมาโดยตลอด ต่อเมื่อสมัยสมัยพระเจ้าบุเรงนองเรืองอำนาจ วัฒนธรรมและความเจริญรุ่งเรืองแบบล้านนาของวัดจึงเลือนหาย และร้างในที่สุด (เพราะจารีตที่แตกต่างกันจึงทำให้ผู้ครองเมืองไม่ได้ให้ความสนใจ)

จากหลักฐานที่ปรากฏใต้พระพุทธรูปที่ขุดพบ ทำให้สันนิษฐานได้ว่า พระเจ้าผู้ครองเมืองฝาง หลายพระองค์ และคหบดี ในสมัยนั้น ได้มาเพื่อปฏิบัติกิจทางศาสนา ณ วัดพระแก้วแห่งนี้มาโดยตลอดและได้สร้างพระพุทธรูปประจำพระองค์ประดิษฐาน ณ แห่งนี้ (ในช่วงที่ขุดใหม่ ๆ เจอพระศิลปะฝาง ทั้งองค์เล็ก องค์ใหญ่ นับ ร้อยองค์ ปัจจุบันยังคงเหลือให้เป็นที่บูชาภายในวัดนับสิบองค์)

ศิริสุภนามพุทธศักราชได้ ๒๔๖๗ นับแต่ปรินิพพานมาแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าโคตมะ ท่านเจ้าอธิการนันตา นนฺตาธโร ได้เดินธุดงค์มาจากบ้านสองแคว อำเภอจอมทอง ได้มาปฏิบัติธรรมที่เมืองฝางและเห็นว่าที่นี่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นอย่างมาก ครั้นได้กลับไปยังบ้านเดิม แล้วก็บอกข่าวนี้กับญาติพี่น้อง และได้ชักชวนกันอพยพจากวัดหัวข่วง บ้านสองแคว ตำบลสองแคว อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยศิษย์และทายก ทายิกา มาตั้งอาราม ชื่อวัดศรีบุญเรือง ซึ่งตั้งอยู่ในหมู่บ้าน ล้องงิ้วเฒ่า หรือ ฮ่องงิ้วเฒ่า เดิม ในแคว้นห้วยงู ต่อมาเป็นตำบลแม่มาว และปัจจุบันเป็นตำบลสันทราย อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่

มีเรื่องเล่าว่า ชาวบ้านที่พากันมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณนี้ เพราะไม่ค่อยมีใครจับจอง เป็นที่ว่าง จึงจับจองทำมาหากิน แต่ปรากฏว่าในกลางค่ำคืนนั้น บ่อยครั้ง ที่ชาวบ้านได้พบกับผี และเด็ก ร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุ ชาวบ้านจำนวนหนึ่งจึงอพยพไปอยู่ที่ห้วยงู แต่ก็หาที่จับจองทำกินได้ยาก เพราะมีคนอยู่ก่อนแล้ว สุดท้ายต้องกลับมาที่เดิม และพระอธิการนันตา พร้อมทั้งชาวบ้าน ได้หารือกันว่า เราควรสร้างวัด เพื่อเป็นศูนย์รวม และสถานที่ทำบุญร่วมกัน จึงได้ชวนคณะกรรมการทายก ทายิกา ได้ช่วยกันแพ้วถาง และจัดสร้างที่พัก ให้เป็นอาราม ในเบื้องต้น โดยนายป้อ ป๊กคำ ผู้ใหญ่บ้าน นายอินต๊ะ แก้วคำมูล (ตุ๊เจ้าอินต๊ะ ธมฺมวีโร) เป็นประธานกรรมการวัด พ่อหนานสุข อิ่นแก้ว พ่อหนานปัญญา กาวิชัย เป็นมัคนายก และนายแก้ว ชัยลังกา กรรมการ โดยมีเจ้าอธิการนันตา นนฺตาธโร เป็นเจ้าอาวาส หลังจากที่ได้ปรับปรุง และพร้อมใจกันสร้างวัดนี้ขึ้น ได้กำหนดสถานที่ ทำการแพ้วถาง ขุดหลุมเพื่อทำกุฏิ และวิหารชั่วคราว แต่ในขณะที่ขุดไม่ลึกเท่าไร ชาวบ้านก็ได้พบพระพุทธรูปปางต่าง ๆ มากมาย เก็บได้มากสิบกว่าตระกล้า ทั้งองค์เล็กและองค์ใหญ่ ซึ่งบางองค์ได้จารึกไว้ที่ฐานพระด้วย ทั้งยังพบซากอิฐเก่าแก่ จำนวนมากพอสมควร และโครงสร้างคล้ายโบราณสถาน จึงได้กำหนดเอาที่ดินตรงนี้ และบริเวณรอบ ๆ หลายสิบไร่ เป็นบริเวณวัดศรีบุญเรือง และวัดนี้ ท่านพระครูวัดศรีบุญเรือง (วัดแม่ฮ่าง) อำเภอฝาง สมัยนั้น (ปัจจุบันเป็นอำเภอแม่อาย) ได้ให้ชื่อวัดนี้ว่า “วัดศรีบุญเรือง”

วัดศรีบุญเรือง ได้เริ่มลงมือสร้างในดิถีวันเดือน ๗ เหนือ แรม ๘ ค่ำ ปีกัดเป้า (ฉลู) ตรงกับวันที่ ๑๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๖๘ (วันพญาวัน) ส่วนชื่อบ้านก็เอานามบ้านเก่ามาตั้ง (บ้านสองแคว อำเภอดอยหล่อ) จึงเรียกกันว่า “บ้านสองแคว” ตราบเท่าทุกวันนี้ และปัจจุบันได้แยกเป็น ๓ หมู่บ้าน ปัจจุบัน มีคณะศรัทธา ๓ หมู่บ้านทำนุบำรุงวัด คือ บ้านสองแคว หมู่ที่ ๗ บ้านสันหนองเขียว หมู่ที่ ๑๓ บ้านใหม่เหนือ หมู่ที่ ๑๔

รายนามเจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรือง

รูปที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๖๗ – ๒๔๗๙ เจ้าอธิการนันตา นนฺตาธโร
รูปที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๗๙ – ๒๔๘๖ เจ้าอธิการทิพย์ ญาณวโร
รูปที่ ๓ พ.ศ. ๒๔๘๖ – ๒๔๙๕ เจ้าอธิการอินหวัน ปญฺญาธโร
รูปที่ ๔ พ.ศ. ๒๔๙๕ - ๒๔๙๗ เจ้าอธิการวรรณ สุภโร
รูปที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๙๗ - ๒๔๙๙ พระอธิการปัญญา ภทฺทญาโณ
รูปที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๙๙ – ๒๕๐๗ เจ้าอธิการอินถา เขมวีโร
รูปที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๐๗ – ๒๕๔๔ พระครูธรรมทิน (บุญตัน รตนสุวณฺโณ) อดีตเจ้าคณะอำเภอฝาง
รูปที่ ๘ พ.ศ. ๒๕๔๔ – ปัจจุบัน พระครูศรีสิทธิพิมล,ดร. (อภิสิทธิ์ วิสุทฺธิเมธี ป.ธ.๗)

ด้านสถาปัตยกรรม

วัดศรีบุญเรือง โดยพระครูธรรมทิน ได้สร้างวิหารทรงไทย ล้านนา พระประธานในวิหาร เป็นพระพุทธชินราช จำลอง สง่างาม บานประตูแกะสลักรูปพุทธประวัติตอนผจญมาร หน้าต่างไม้สักแกะสลักพระเจ้า ๑๐ ชาติ โดยช่างธงชัย คุณบัวเกี๋ยง กิ่วแก้ว บ้านกิ่วแลน้อย อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ เสาและซุ้มประตู ติดเซรามิคลวดลายดอกไม้ ทำถวายโดย คุณชัยณรินทร์ หุตะสิงห์ ปูพื้นด้วยไม้สักและหินแกรนิต – หินอ่อน

ด้านสาธารณสงเคราะห์

วัดศรีบุญเรือง เป็นวัดที่ตั้งของสำนักเรียนพระปริยัติธรรมแผนก บาลี นักธรรม โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญ ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ซึ่งสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนเป็นอย่างมาก และศูนย์เรียนรู้ชุมชน เปิดสอนพิเศษ วิชาภาษาล้านนา ภาษาอังกฤษ ภาษาบาลี ภาษาไทย คอมพิวเตอร์ ศิลปะ และการจัดค่ายคุณธรรมตลอดปี

ถาวรวัตถุภายในวัด

พระเจดีย์

พระเจดีย์สร้างขึ้นสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑ เสร็จ ๒๕๐๒ เป็นเจดีย์ทรงพุกามผสมล้านนา องค์เจดีย์ตั้งสง่าอยู่ในเขตพุทธาสวาส (ไม่ทราบจำนวนเงินที่สร้าง) ซึ่งจัดเป็นสัดส่วนในยุคของพระครูธรรมทิน และเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ พระมหาอภิสิทธิ์ วิสุทธิเมธี ได้ทำการบูรณะเจดีย์ที่ชำรุดใหม่อีกครั้ง การบูรณะ สิ้นทุนทรัพย์ ๑๒๐,๐๐๐ บาท (สร้างโดยเจ้าอาวาสรูปที่ ๖พระอธิการอินถา เขมวีโร พร้อมคณะศรัทธาวัดศรีบุญเรือง)

อุโบสถ

อุโบสถตั้งอยู่ในเขตพุทธาวาสเช่นกัน เป็นถาวรวัตถุที่มีความเก่าแก่มากหลังหนึ่ง สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖ ปัจจุบันได้ชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมาก แต่ยังคงใช้งานได้เหมือนเดิม เป็นที่ทำสังฆกรรมอย่างต่อเนื่องทั้ง ใน และนอก พรรษา (สร้างโดยเจ้าอาวาสรูปที่๔ พระอธิการวรรณ สุภโร พร้อมคณะศรัทธาวัดศรีบุญเรือง แต่มาแล้วเสร็จเมื่อ เจ้าอาวาสรูปที่ ๕ พระอธิการปัญญา ภทฺทญาโณ)

วิหาร

วิหารทรงไทย ล้านนา (สร้างแทนหลังเก่าที่ทรุดโทรม แล้วทำการรื้อถอนเพื่อสร้างใหม่) เริ่มสร้างตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๔ เสร็จ ๒๕๓๐ (ฉลอง ทรงเจริญพระชนมายุ ๕ รอบ (๖๐ พรรษา) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ โดยเสด็จแทนพระองค์ ยกช่อฟ้าโดยหม่อมเจ้าภีสเดช รัชนี จารึกอักษรย่อ ภปร. หน้าบันวิหาร และพระราชทานพระนามพระประธานในวิหารด้วย พระประธานในวิหาร เป็นพระพุทธชินราช จำลอง ลงรักปิดทอง รูปร่างสง่างาม บานประตูแกะสลักรูปพุทธประวัติตอนผจญมาร ลงรัก ปิดทอง หน้าต่างไม้สักแกะสลักพระเจ้า ๑๐ ชาติ โดยช่างธงชัย คุณบัวเกี๋ยง กิ่วแก้ว อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ เสาและซุ้มประตู ติดเซรามิคลวดลายดอกไม้ ทำถวายโดย คุณชัยณรินทร์ หุตะสิงห์ ปูพื้นด้วยไม้สักและหินแกรนิต – หินอ่อน ใช้เป็นสถานที่ทำกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา มีการทำวัตร สวดมนต์ และกิจกรรมวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่นการเทศน์ และการอบรมธรรมแก่เยาวชนร่วมกับศาลาการเปรียญ (สร้างโดย พระครูธรรมทิน พร้อมคณะศรัทธาวัดศรีบุญเรือง)

กำแพงแก้ว

ดำเนินการสร้างกำแพงแก้ว ลักษณะคอนกรีตเสริมเหล็ก ใบเสมาดินเผาเคลือบสี รอบเขตอุโบสถ กว้าง ๕๐ เมตร ยาว ๒๓๐ เมตร แล้วเสร็จสมบูรณ์ รวมค่าก่อสร้างเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น ๑,๐๐๕,๖๐๐ บาท สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๗ (สร้างโดย พระครูธรรมทิน พร้อมคณะศรัทธาวัดศรีบุญเรือง)

ศาลาการเปรียญ

เป็นศาลาทรงล้านนา แบบผสมผสานกับศิลปะพื้นบ้าน สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นศาลาอิฐ ถือปูน กว้าง ๙ เมตร ยาว ๓๐ เมตร ใช้ทำเป็นกิจในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาร่วมกับวิหารทุนทรัพย์ในการก่อสร้าง๓๓,๐๐๐ (สามหมื่นสามพันบาทถ้วน) (ปัจจุบันได้รื้อเพื่อก่อสร้างอาคารหลังใหม่ ชื่อว่าศาล “ธรรมโฆษณ์” ทดแทนแล้ว) (สร้างโดย เจ้าอาวาสองค์ที่ ๕ พระอธิการปัญญา ภททญาโณ พร้อมคณะศรัทธาวัดศรีบุญเรือง เสร็จเมื่อเจ้าอาวาสองค์ที่ ๖ พระอธิการอินถา เขมวีโร) ปัจจุบันทำการรื้อแล้วสร้างใหม่แทน

อาคารสิริกิติ์

เป็นอาคารเรียนโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา สังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ โดยให้ชื่อโรงเรียน ว่า โรงเรียนฝางธรรมศึกษา เปิดสอนตั้งแต่ ปี๒๕๓๕ จนถึงปัจจุบัน “ อาคารสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์” ทรงไทยล้านนา ๔ ชั้น ปูพื้นด้วยหินแกรนิต และหินอ่อน กว้าง ๙ เมตร ยาว ๓๕ เมตร แล้วเสร็จสมบูรณ์ รวมค่าก่อสร้างเป็น จำนวนเงิน ๗,๑๔๓,๖๔๐ บาท (สร้างโดย พระครูธรรมทิน พร้อมคณะศรัทธาวัดศรีบุญเรือง)

อาคารสำนักงาน

เป็นอาคารตึก ๓ ชั้น มี ๓ ห้องใหญ่ กว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๖ เมตร สร้างสิ้นทุนทรัพย์ ๙๘๒,๐๐๐ บาท ปัจจุบันทำเป็นอาคารสำนักงานโรงเรียนฝางธรรมศึกษา (สร้างโดย พระครูธรรมทิน พร้อมคณะศรัทธาวัดศรีบุญเรือง)

กุฏิสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์

เป็นกุฏิที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับจำนวนของนักเรียน และพระนิสิตที่เข้ามาเรียน อยู่ที่โรงเรียนฝางธรรมศึกษา และ มจร. ห้องเรียนวัดศรีบุญเรือง และพระเณรทั่วไป เป็นอาคาร 3 ชั้น เป็นที่พักสามเณร 24 ห้อง ที่พักครู อาจารย์ 7 ห้อง มี ห้องพระ และห้องรับแขกในตัว มีห้องน้ำจำนวน 19 ห้อง สิ้นทุนทรัพย์ ๖,๑๒๘,๒๐๐ บาท (หกล้านหนึ่งแสนสองหมื่อนแปดพันสองร้อยบาทถ้วน) (สร้างโดย พระครูธรรมทิน พร้อมคณะศรัทธาวัดศรีบุญเรือง)

กุฏิธรรมทินสายธารศรัทธา

เป็นกฏิรับรอง ๘ ห้องนอน ๘ ห้องน้ำ สร้างเพื่อเป็นที่พักปฏิบัติธรรมของอุบาสกอุบาสิกาผู้ถืออุโบสถศีล มาอยู่ใจอุโบสถศีลในระหว่างพรรษาและอาคารต้องรับอาคันตุกะผู้มาจากทิศทั้ง ๔ เป็นอาคารเอนกประสงค์ลักษณะคอนกรีต เสริมเหล็ก ทรงไทยล้านนา ๒ ชั้น กว้าง ๑๔ เมตร ยาว ๒๕ เมตร แล้วเสร็จสมบูรณ์รวมค่าก่อสร้างเป็นจำนวนเงิน ๑,๑๐๐,๓๐๐ บาท (หนึ่งล้านหนึ่งแสนสามร้อยบาท) (สร้างโดย พระครูธรรมทิน พร้อมคณะศรัทธาวัดศรีบุญเรือง)

อาคารธรรมทินปริยัติศึกษา

เริ่มสร้างเมื่อ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ เสร็จ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ เป็นอาคารเรียนอิฐถือปูน ๒ ชั้น กว้าง ๑๑.๕ เมตร ยาว ๔๓ เมตร ประกอบด้วยห้อง ๖ ห้อง (ไม่รวมห้องน้ำ) เป็นอาคารประกอบด้วยประโยชน์ใช้สอยห้องทำงานผู้จัดการโรงเรียน ห้องสมุด ห้องประชุม ห้องคอมพิวเตอร์ และห้องเรียน สร้างโดย พระมหา ดร.อภิสิทธิ์ วิสุทธิเมธี และคณะศรัทธาวัดศรีบุญเรือง เพื่อถวายแด่หลวงพ่อพระครูธรรมทิน พระอุปัชฌาย์ อาจารย์ สิ้นทุนทรัพย์ จำนวน ๒,๓๘๔,๗๖๙ (สองล้านสามแสนแปดหมื่นสี่พันเจ็ดร้อยหกสิบเก้าบาทถ้วน)

มณฑปพระมหากัจายนะ

เป็นมณฑปที่สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานรูปเหมือนพระมหากัจจายนะ ปริจาคบ้านไม้สักหลังหนึ่งโดย คุณชัยณรินทร์ หุตะสิงห์ รวมทุนทรัพย์ที่ใช้ก่อสร้าง ๒๙๑,๑๗๑ บาท (สองแสนเก้าหมื่อนหนึ่งพันหนึ่งร้อยเจ็ดสิบเอ็ดบาท) ดูแลการสร้างโดย พระมหา ดร.อภิสิทธิ์ วิสุทธิเมธี และคณะศรัทธาวัดศรีบุญเรือง

กำแพงรอบวัด

เป็นกำแพงอิฐ ถือปูน กว้าง ช่องละ ๓.๕ เมตร จำนวน ๑๗๒ ห้อง เป็นเงิน ๙๙๙,๑๒๓ บาท (เก้าแสนเก้าหมื่นเก้าพันหนึ่งร้อยยี่สิบสามบาท) ( พระมหา ดร.อภิสิทธิ์ และคณะศรัทธาวัดศรีบุญเรือง บริจาคเงินในการก่อสร้าง ) เริ่มสร้าง มกราคม ๒๕๔๖ สร้างเสร็จ พฤษภาคม ๒๕๔๖

ศาลาธรรมโฆษณ์

เริ่มสร้างเมื่อ เดือน มกราคม ๒๕๔๘ โดยพระมหา ดร.อภิสิทธิ์ วิสุทธิเมธี และคณะศรัทธาวัดศรีบุญเรือง โดยมีเงินเริ่มต้น จำนวน ๒๓๑,๗๖๓ บาท (เป็นเงินผ้าป่าที่พ่ออุดม มงคลธรรม และคณะกรรมการ คณะศรัทธาวัดศรีบุญเรือง ร่วมกันทอดเพื่อบูรณะศาลาหลังเก่า แต่เมื่อประชุมคณะศรัทธาทุกท่านแล้ว มีมติให้รื้อศาลาหลังเก่าแล้วสร้างใหม่) นอกจากนั้นเป็นเงินบริจาคจากญาติโยม ทั่วไปที่ร่วมเป็นเจ้าภาพ จนต้นปี ๒๕๔๙ คณะศรัทธาวัดศรีบุญเรืองทั้ง ๓ หมู่บ้าน คือ บ้านสองแคว หมู่ที่ ๗ บ้านสันหนองเขียว หมูที่ ๑๓ และบ้านใหม่เหนือ หมู่ที่ ๑๔ ได้พร้อมใจกันยกเงิน SML จำนวน ๘๐๐,๐๐๐ บาท ร่วมบริจาคเพื่อเป็นทุนในการก่อสร้าง และได้ดำเนินการอยู้เป็นเวลา ๓ ปี จึงสร้างจนแล้วเสร็จ ศาลาธรรมโฆษณ์ เป็นศาลาทรงล้านนา ตกแต่งลายกนก ความกว้า ๒๐ เมตร ความยาว ๕๒ เมตร มีประโยชน์ในการใช้สอยหลัก คือเป็นค่ายคุณธรรมสำหรับเด็ก เยาวชน ในเขต อำเภอฝาง แม่อาย ไชยปราการ เชียงดาว เวียงแหง (สพป.เขต ๓) และเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมประจำเดือนของชมรมพุทธรักษา และชมรมธรรมรักษา อำเภอฝาง แม่อาย ไชยปราการ ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง ๗,๑๒๕,๐๐๐ บาท (เจ็ดล้านหนึ่งแสนสองหมื่นห้าพันบาทถ้วน)

สมเด็จพระศรีสุวรรณมุนี

เป็นพระพุทธรูป ขนาดหน้าตัก ๑๑ เมตร ความสูง ๒๔ เมตร ตั้งอยู่บนอาคาร ขนาด ๒๕X ๓๕ เมตร เริ่มการก่อสร้างโดยพระครูศรีสิทธิพิมล ดร. และได้รับการอุปถัมภ์งบประมาณในการสร้าง จ่ก พันเอกนายแพทย์พงษ์ศักดิ์ ตั้งคณา และอาจารย์บุญหนา นาควิจิตร (ศิษย์ในหลวงปู่เทพโลกอุดร) เป็นเจ้าภาพองค์พระใหญ่ทั้งหมด ส่วนอาคาร และศาลารอบองค์พระ คณะศรัทธาวัดศรีบุญเรือง ร่วมกันสร้าง เสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๓ สิ้นทุนทรัพย์ ๑๐,๐๐๕,๗๖๐ บาท

สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดเชียงใหม่ แห่งที่ ๑๓ (ศูนย์ปฏิบัติธรรมนานาชาติ พุทธรักษา)

เป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมนานาชาติ เริ่มเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมนานาชาติมาตั้งแค่ พ.ศ. ๒๕๕๒ และได้ประกาศเป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดเชียงใหม่ แห่งที่ ๑๓ ตามมติมหาเถรสมาคม ที่ ๓๗๕/๒๕๕๙ วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๙

โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา (โรงเรียนฝางธรรมศึกษา)

เป็นโรงเรียนที่ดำเนินการก่อตั้งมาโดยหลวงพ่อพระครูธรรมทิน เจ้าอาวาสองค์ที่ ๗ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๕ มีการเรียนการสอนระดับ ม.๑ ถึง ม.๖ ปัจจุบันมีนักเรียนในเขตอำเภอฝางเข้ามาศึกษา จำนวน ๑๐๐ กว่ารูป โดยมีพระครูศรีสิทธิพิมล (ป.ธ. ๗ / Ph.D) เป็นผู้จัดการ และรักษาการผู้อำนวยการ

โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี นักธรรม

เป็นสำนักศาสนศึกษา ในปีนี้ (๒๕๖๔) มีนักเรียนบาลี ตั้งแต่ชั้น ประโยค ๑-๒ ถึง ป.ธ.๙ จำนวน ๒๑ รูป นักธรรม จำนวน ๙๗ รูป โดยมี พระครูศรีสิทธิพิมล (ป.ธ. ๗ / Ph.D) เป็นเจ้าสำนักศาสนศึกษา และ มีพระมหาศราวุฒิ สนฺโตภาโส (รัตนสันติ) ป.ธ.๙ ปริญญาโท เป็นอาจารย์ใหญ่ พระมหาเชิดพงษ์ สิริภทฺโท ป.ธ.๘ เป็นที่ปรึกษา

Copyright © Fang Dhammasuksa School. All rights reserved.